การรู้จักและช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการประมวลเสียงจากระบบประสาทส่วนกลาง

Last updated: 11 ก.ค. 2566  |  2466 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การรู้จักและช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการประมวลเสียงจากระบบประสาทส่วนกลาง

การรู้จักและช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการประมวลเสียงจากระบบประสาทส่วนกลาง
 
Submitted by webmaster on Tue, 08/19/2014 - 20:07


ปัญหาการประมวลเสียงจากระบบประสาทส่วนกลางคืออะไร?
เด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีปัญหาการประมวลเสียงจากระบบประสาทส่วนกลาง (Central Auditory Processing Disorder : CAPD) คือ ผู้ที่มีความยากลำบากในการใช้ข้อมูลจากการฟังเพื่อนำมาสื่อสารและการเรียนรู้ CAPD ไม่ได้เป็นปัญหาหรือโรคชนิดเดียว แต่เป็นกลุ่มของปัญหาที่เกิดกับทักษะในการฟัง โดยส่วนใหญ่เด็กที่เป็น CAPD จะถูกวินิจฉัยพร้อมกับอาการสมาธิสั้นหรือมีปัญหาในการเรียนรู้ สมาคม ASHA ได้ระบุปัญหาของเด็ก CAPD ดังนี้
1. ปัญหาในการบอกแหล่งกำเนิดเสียงและทิศทางของเสียง
2. ปัญหาในการจำแนกแยกแยะเสียง
3. ปัญหาในการรู้จักความคล้ายคลึงและความแตกต่างพอเพียง
4. ปัญหาในการรับรู้ Temporal Aspects ของเสียง
5. ปัญหาในการเข้าใจเสียงเมื่ออยู่ในเสียงรบกวน
6. ปัญหาในการเข้าใจเสียงเมื่อคุณภาพของเสียงด้อยลง


นักแก้ไขการได้ยินจะทำการตรวจปัญหาเหล่านี้โดยใช้เครื่องมือการทดสอบที่เป็นมาตรฐานในห้องตรวจการได้ยินที่ออกแบบมาอย่างดี ดังนั้นเราควรมารู้จักความสามารถต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้น
1. ความสามารถในการบอกแหล่งกำเนิดเสียง และทิศทางของเสียง คือ ความสามารถของเด็กหรือผู้ใหญ่ที่จะบอกว่าเสียงเกิดขึ้นในที่ใด ทักษะนี้เป็นทักษะสำคัญในการอยู่รอด ส่วนการบอกทิศทางของเสียง คือ ความสามารถในการบ่งบอกทิศทางที่มาของเสียง
2. ความสามารถในการแยกแยะจำแนกเสียง คือ ความสามารถในการแยกเสียงใดเสียงหนึ่งออกจากเสียงอื่นๆ โดยมากจะใช้กับความสามารถในการแยกเสียงพูด เช่น แยกเสียง /P/ ออกเสียง /b/
3. ความสามารถในการแยกความเหมือน และความแตกต่างของเสียง
4. ความสามารถในการรับรู้ Temporal Aspects ของเสียง  คือ ความสามารถในการลำดับเสียง การนำเสียงมาประกอบเป็นคำ และการรับรู้เสียงที่แยกออกจากกัน
5. ความสามารถในการเข้าใจเสียงที่รบกวน ซึ่งเสียงรบกวนเหล่านี้อาจเป็นเสียงพูด หรือสัญญาเสียงอื่นๆ ที่อาจจะดังหรือเบา
6. ความสามารถเข้าใจเสียงเมื่อคุณภาพเสียงด้อยลง เช่น ข้อมูลบางอย่างของเสียงสูญหายไป อาจจะเกิดจากสเป็กตรัมบางส่วนของเสียงถูกลบออกไป ความถี่ของบางความถี่หายไป หรือเวลาของเสียงถูกกดบีบ
จะเห็นได้ว่าความสามารถทางการฟัง 6 ประการข้างต้นดังที่กล่าวมา เป็นความสามารถที่ครูและผู้ปกครองไม่อาจสังเกตได้ง่ายในบ้านหรือในชั้นเรียน ครูประจำชั้นอาจสังเกตว่าเด็กอาจจะไม่เข้าใจได้ดีเมื่อมีเสียงรบกวนในห้อง และผู้ปกครองอาจสังเกตว่าเด็กอาจจะไม่มีสมาธิในการฟังเมื่อมีคนสองคนคุยกับเด็กพร้อมกัน แต่พฤติกรรมความลำบากในการฟังเหล่านี้ อาจจะไม่สามารถทดสอบได้อย่างมั่นใจ เนื่องจากว่าปัญหาอาจจะมาจากสาเหตุอื่นที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งไม่เกี่ยวกับระบบการได้ยิน ดังนั้นนักแก้ไขการได้ยินจะใช้เครื่องมือตรวยพิเศษเพื่อหาสาเหตุปัญหาในการได้ยินของเด็ก CAPD
 
ผู้ที่มีลักษณะ CAPD แตกต่างจากปัญหาความผิดปกติในการประมวลเสียงที่สาขาอาชีพอื่นได้วินิจฉัยอย่างไร?


CAPD เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับเด็กและผู้ใหญ่ และดังกล่าวมาแล้วข้างต้น CAPD สามารถสร้างปัญหาในการเรียนรู้ภาษา และส่งผลต่อการอ่าน ซึ่งปรากฏชัดเจนในงานวิจัย
สำหรับเด็กที่เป็น CAPD อาจเคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อนที่จะพบนักแก้ไขการได้ยิน ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับครู ผู้ปกครอง นักการศึกษา หรือนักวิชาชีพอื่นๆ ที่ช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ ดังนั้น การจะทำการวินิจฉัยเด็กที่เป็น CAPD ต้องอาศัยทีมนักวิชาชีพคือนักแก้ไขการได้ยิน นักแก้ไขการพูด นักจิตวิทยา ครูการศึกษาพิเศษ และแพทย์ในการประเมิน และให้ความช่วยเหลือ


สำหรับนักแก้ไขการพูดนั้น อาจจะวินิจฉัยว่าเด็ก CAPD มีความผิดปกติการประมวลภาษาและการฟัง ซึ่งหมายถึงการที่เด็กมีปัญหาในการลำดับการจำในสิ่งที่ได้ยิน ปัญหาในการจำสิ่งที่ได้ยินในบริบทที่เปิดกว้าง นักแก้ไขการพูดอาจใช้คำว่า ?receptive language disorder? และ ?abnormal auditory perception? ในความหมายเดียวกันกับว่าเด็กมีปัญหาทางภาษาแบบ specific language impairment คือ การมีปัญหาทางภาษาในบางด้าน และยังหมายถึงเด็กที่มีปัญหาในการจำคำสั่ง แต่สิ่งที่สำคัญที่ต้องตระหนักคือว่า การตรวจเด็กนั้นด้วยเครื่องมือที่เที่ยงตรงหรือไม่ และมีการวินิจฉัยพบว่าผลของการวินิจฉัยจะแตกต่างกัน ถ้าตรวจด้วยเครื่องมือหรือในห้องที่ไม่ได้มาตรฐาน
ส่วนนักจิตวิทยาและนักการศึกษามักวินิจฉัยเด็ก CAPD ว่าเป็นเด็กที่มีปัญหาในการเข้าใจ ไม่สามารถทำตามคำสั่ง หรือมีปัญหาในการจำระยะสั้นและนักจิตวิทยาอาจใช้การทดสอบการฟัง และถ้าเด็กได้คะแนนต่ำในแบบทดสอบนี้ นักจิตวิทยาก็จะมั่นใจว่าเด็กมีปัญหาในการประมวลเสียง
 
อุบัติการณ์และสาเหตุของ CAPD
Chermak และ Musiek (1998) ได้คาดคะเนว่า อุบัติการณ์ของ CAPD สูงถึง 3 ถึง 5 เปอร์เซนต์ และมีอุบัติการณ์สูงกว่าการสูญเสียงการได้ยิน มีการติดตามศึกษาเด็กที่มีปัญหาในการได้ยินที่เกิดจากหูชั้นกลางอักเสบตั้งแต่อายุ 1 ขวบ ถึง อายุ 9 ขวบ พบว่า เด็กพวกนี้มีปัญหาในการประมวลเสียงและการเรียนรู้ ดังนั้น ไม่เพียงแต่มีเด็กจำนวนมากที่มีปัญหาในการเรียนรู้ที่มาจาก CAPD มากกว่ามีปัญหาการสูญเสียการได้ยิน แต่ปัญหา CAPD ยังเป็นปัญหาที่มองไม่เห็นในขณะที่ปัญหาในการได้ยินยังเห็นได้ง่ายและมักจะสัมพันธ์กับปัญหาทางภาษาและการพูด
ในขณะเดียวกันยังมีการเกิด CAPD ร่วมกันกับปัญหาทางภาษาและการเรียนรู้ เช่น สมาธิสั้น และทางชีวประสาทวิทยายังชี้ให้เห็นว่า CAPD อาจก่อให้เกิดปัญหาทางภาษาและปัญหาในการอ่านได้
เนื่องจากมีอุบัติการณ์ของ CAPD สูงที่ก่อให้เกิดปัญหาทางภาษาและการเรียนรู้ นักวิจัยจึงได้พยายามค้นหาสาเหตุ ซึ่งอาจจะเกิดจากความผิดปกติของยีนส์ บางคนมีปัญหามาจากคนในครอบครัวที่อาจมีปัญหา CAPD หรืออาจเกิดจากการกระทบกระเทือนตั้งแต่เกิดหรืออาจมีปัญหาในช่วงวัยเด็ก เช่น ปัญหาหูชั้นกลางอักเสบ สาเหตุอีกประการอาจมาจากความล่าช้าในการเจริญเติบโตของระบบประสาทส่วนกลาง ในขณะที่เรายังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของ CAPD ได้นั้น ปัญหาของมันก่อให้เกิดผลกระทบอย่างแรงต่อการเรียนรู้ภาษาและการศึกษา โดยเฉพาะปัญหาในการอ่าน ซึ่งทำให้เกิดความกังวลต่อผู้ปกครอง และนักการศึกษา
 
การแยกความแตกต่างระหว่าง CAPD และโรคสมาธิสั้น
CAPD อาจเกิดมีปัญหาอื่นร่วมด้วยรวมถึงสมาธิสั้นปัญหาความบกพร่องในการอ่าน ความผิดปกติของภาษาและออทิสติก Gail Chermak และคณะได้ทำการสำรวจ ซึ่งช่วยในการแยกความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมของ CAPD และสมาธิสั้น โดยสามารถสรุปเป็นประเภทของอาการได้ดังต่อไปนี้
พฤติกรรมของเด็กที่เป็นสมาธิสั้นมีดังต่อไปนี้
- ไม่มีสมาธิ
- วอกแวกง่าย
- มีความตื่นตัวสูงผิดปกติ
- ไม่อยู่นิ่ง
- ชอบก่อกวน
- หุนหันพลันแล่น
พฤติกรรมของ CAPD มีดังนี้
- มีปัญหาในการฟังในที่ที่มีเสียงรบกวน
- ทำตามคำสั่งไม่ได้
- ทักษะการฟังไม่ดี
- ปัญหาในการเรียน
- วอกแวกง่าย
- ไม่มีสมาธิ
 
CAPD และปัญหาทางประสาทวิทยาอื่นๆ
  มีผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่บางคนที่มีปัญหาของอะเฟเซีย (aphasia) จะมีปัญหาอย่างมากในการประมวลเสียงในระบบประสาทส่วนกลางและเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีปัญหาทางประสาทวิทยาอื่นๆ เช่น ผู้ที่เป็น multiple sclerosis และโรคพาคินสัน ผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนที่สมองอย่างแรงจะมีปัญหา CAPD ร่วมด้วย นอกจากนั้นแล้ว CAPD ยังสามารถเกิดขึ้น ผู้ที่มีประสาทหูเสียงนอกเหนือจากผู้ที่มีการได้ยินปกติ พฤติกรรมต่อไปนี้แสดงให้เห็นถึงการเป็น CAPD เช่น เมื่อใส่เครื่องช่วยฟังแล้วยังมีปัญหาในการทดสอบการฟังและผู้ที่มีปัญหาในการแยกแยะจำแนกคำพูดโดยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าไม่มีปัญหาอื่นร่วมด้วย
ได้มีการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มบุคคลที่มี CAPD แต่หาสาเหตุไม่ได้ กลุ่มนี้เรียกว่า Obscure Auditory Dysfunction (OAD) คือ บุคคลที่มีการได้ยินปกติ แต่มีปัญหาในการเข้าใจภาษาในที่มีเสียงรบกวน และยังมีบุคคลบางประเภทที่มี CAPD ที่รุนแรงแต่พบไม่มากนักเรียกว่า auditory neuropathy โดยบุคคลเหล่านี้จะมีการได้ยินปกติ แต่เมื่อตรวจด้วยวิธีการตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง การตรวจจะแสดงความผิดปกติในระดับก้านสมอง บุคคลเหล่านี้ อาจจะถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนหูหนวก เนื่องจากไม่ตอบสนองต่อการใช้เครื่องช่วยฟัง แต่บุคคลเหล่านี้มีหูชั้นในที่ปกติ แต่พวกเขามีปัญหาทางภาษาและการพูดอย่างรุนแรง มีปัญหาในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นปัญหา CAPD ที่รุนแรงชนิดหนึ่ง
 
การตรวจการได้ยินสำหรับผู้ที่มีอาการ CAPD
  เนื่องด้วยการตรวจการได้ยินมาตรฐานที่ใช้ทั่วไปในคลินิกไม่สามารถตรวจแยกโรคในผู้ที่มีอาการ CAPD ได้ นักวิจัยได้พัฒนาการทดสอบที่สามารถใช้แยกแยะจับตรวจผู้ที่มีอาการ CAPD ได้ ซึ่งได้แก่การตรวจที่ใช้ Fitered speech, time-compressed speech และ speech in noise และมีการตรวจชนิดอื่น เช่น sound localization, binaural fusion, masking level difference และ dichotic tasks ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ จึงได้มีการใช้การตรวจที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง middle latencies (MLR), late latency และ event related response และ MRI ซึ่งการตรวจเหล่านี้เป็นการตรวจทางประสาทวิทยาและรังสีวิทยาที่ตรวจการทำงานของระบบการได้ยินของประสาทส่วนกลาง นักแก้ไขการได้ยินใช้การตรวจทั้งการตรวจแบบมาตรฐานและการตรวจคลื่นสมอง เพื่อตรวจการทำงานของระบบการได้ยินของประสารทส่วนกลาง
 
CAPD และปัญหาในการเรียนรู้
องค์ประกอบของภาษาที่เล็กที่สุดเรียกว่าหน่วยเสียง (phoneme) ซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดในภาษาที่แยกความแตกต่างของคำต่างๆ ในภาษา และเป็นตัวที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนความหมาย ถ้าเด็กไม่สามารถประมวลเสียงพยัญชนะได้เด็กคนนั้นจะมีปัญหาทางภาษาและอาจมีปัญหาในการเข้าใจภาษาพูด เมื่อไม่เข้าใจภาษาพูดจะทำให้มีปัญหาในการเข้าใจภาษา
เนื่องจากเสียงพูดเป็นคลื่นเสียงที่มีความสลับซับซ้อนที่เคลื่อนไหวในช่วงเวลาหนึ่ง จึงได้มีการวิจัยที่จะหาองค์ประกอบของคลื่นเสียงพูด ซึ่งเมื่อผู้ฟังได้ยินองค์ประกอบนั้นแล้ว ต้องเข้าใจว่าเป็นหน่วยเสียง Tallal และ Newcombe ชี้ให้เห็นว่าความยากลำบากในการฟังเสียงพูด คือ การที่สัญญาณของเสียงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีอิทธิพลต่อการฟังหน่วยเสียง Tallal จึงได้เสนอว่าการที่เด็กมีลักษณะเป็น CAPD จะต้องประสบปัญหาในการเข้าใจเสียงพูดที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะแตกต่างไปจากเด็กปกติ และยังพบว่า เด็กที่เป็น CAPD จะมีปัญหาในการเข้าใจเสียงพูดที่อยู่ในชั้นเรียนที่มีเสียงรวบกวน ซึ่งมีระดับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เด็กที่เป็น CAPD  จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีปัญหาในการเรียนรู้และมีปัญหาทางภาษา
ในทางด้านการศึกษาเป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า CAPD มีผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ในชั้นเรียนและการเรียนรู้อื่นๆ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาในการเรียนรู้ ในปี 1967 คณะกรรมการ National Advisory Committee on Handicapped Children ได้กล่าวถึง ปัญหาทางเรียนรู้ คือ ?ความผิดปกติซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในการฟังการคิด การพูด การเขียน การสะกดคำ และการคิดคำนวณ? และในปี 1981 คณะกรรมการ National Joint Committee for Learning Disabilities ได้ให้คำจำกัดความของปัญหาในการเรียนรู้ว่า ?เป็นคำกว้างๆ ที่หมายถึงการแสดงออกของอาการกลุ่มต่างๆ ที่มีปัญหาในการเรียนรู้และการฟัง การอ่าน การเขียน การให้เหตุผล และการคิดคำนวณ? ดังนั้น การที่เด็กมีความยากลำบากในการฟัง จึงเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเรียนรู้ จากการวิจัยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเกี่ยวกับเด็กเรียนรู้วิธีที่จะอ่านอย่างไร และความรู้เกี่ยวกับการตระหนักรับรู้หน่วยเสียง ดังนั้น ความสามารถในการประมวลเสียงจากการฟัง จึงเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาการอ่าน
 
พฤติกรรม CAPD ในเด็ก
วัยทารกและวัยเด็กเริ่มต้น
อาการ CAPD จะสามารถเห็นได้ในวัยเด็กเล็ก ผู้ปกครองที่มีเด็กที่เป็น CAPD มักจะรายงานว่าในช่วงวัยทารก เด็กเหล่านี้จะไม่ตอบสนองต่อเสียงพูด หรือดูเหมือนไม่สนใจเสียงในสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันมีเด็กบางคนที่มีอาการตื่นตกใจต่อเสียงต่างๆ ตลอดเวลา จนดูเหมือนว่ามีอาการไวมากเกินไปในการตอบสนองต่อเสียง เด็กพวกหลัง เมื่อใดเกิดขึ้นจะมีความไวต่อเสียงมากเกินไปและมักมีปัญหาในการเข้าใจเสียงพูด เมื่อมีเสียงรบกวนซึ่งมีผลกระทบต่อการเข้าสังคมกับเพื่อน การทำงานกลุ่ม และเรียนรู้ในห้องเรียนใหญ่ เมื่อเด็กเหล่านี้มีอายุได้ประมาณ 12 เดือน ผู้ปกครองมักจะบอกว่าเด็กเหล่านี้พูดน้อยกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน และผู้ปกครองเริ่มขอให้กุมารแพทย์สั่งตรวจการได้ยิน เป็นเรื่องปกติที่ผู้ปกครองเหล่านี้จะบอกว่าเด็กของเขาได้ผ่านการตรวจการได้ยินหลายครั้ง และผลตรวจเป็นปกติ อย่างไรก็ตามยังมีเด็กที่มีโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง และเด็กเหล่านี้มีความสามารถในการฟังต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากหูอักเสบเรื้อรัง และมีเด็กจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ที่มีปัญหาหูชั้นกลางอักเสบครั้งหนึ่งในชีวิตในช่วงขวบปีแรกของชีวิต โดยที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ปัญหาการได้ยินนั้นมาจากปัญหาหูชั้นกลางอักเสบในขณะที่แท้จริงแล้วปัญหาการฟังในเด็กเหล่านี้เป็นสัญญาณแรกของอาการ CAPD มีการวิจัยที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าเด็กอายุ 4-5 ปี ที่มีหูอักเสบชั้นกลางเรื้อรังมักจะมีการตอบสนองผิดปกติต่อการตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง จึงเป็นผลที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังและ CAPD
 
เด็กวัยก่อนเข้าชั้นอนุบาล
เมื่อเด็กเริ่มเข้าไปในสถานเลี้ยงเด็ก เด็กจะเริ่มเรียนเพลงเด็กแบบง่ายๆ และบทกลอนสั้นๆ เด็กที่เป็น CAPD อาจชอบฟังเพลงแต่มีปัญหาในการเรียนรู้คำ ในสถานรับเลี้ยงเด็กนั้น ครูมักจะรายงานว่าเด็กเหล่านี้ไม่สามารถนั่งได้นานพอที่จะฟังเรื่องเล่า หรือต้องให้ครูพูดหลายครั้งและต้องใช้การเตือนโดยการสัมผัสหรือทางสายตาเวลาที่ครูพูดด้วย ดังนั้นครูมักจะเรียกเด็กเหล่านี้ว่าเป็นเด็กที่ชอบฝันกลางวัน ผู้ปกครองมักจะบอกว่าเด็กเหล่านี้ไม่ชอบฟังพ่อแม่อ่านนิทาน และเด็กเหล่านี้ชอบดูวีดีโอหรือโทรทัศน์มากกว่าที่จะฟังการอ่านหนังสือ เด็กเหล่านี้อาจจะไวต่อเสียง โดยมักจะปิดหูเพื่อไม่ให้ได้ยินเสียงดังๆ เช่น เสียงในงานวันเกิดหรือการเล่นที่มีเสียงดัง และผู้ปกครองมักมองเด็กเหล่านี้ว่าเป็นเด็กที่เรียนร้องความสนใจหรือยังไม่รู้จักโต และยังมีเด็กบางคนที่นั่งจ้องดูโทรทัศน์ โดยที่ผู้ปกครองเรียกเท่าใดก็ดูเหมือนทำเป็นไม่ได้ยิน ด้วยพฤติกรรมของเด็ก CAPD ที่แตกต่างกัน เด็กเหล่านี้จึงมักจะถูกมองผิดๆ ว่ามีปัญหาทางพฤติกรรม มีปัญหาในการปรับตัวและไม่มีวุฒิภาวะ
 
เด็กวัยอนุบาล
ในชั้นอนุบาลนั้น เด็กต้องเรียนรู้ที่จะฟังภาษาที่มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เด็กจะเรียนทักษะเตรียมพร้อมในการอ่าน และเด็กจะเรียนรู้ชื่อตัวอักษรและเสียงที่คู่กับตัวอักษรนั้น เด็กต้องเรียนรู้ความแตกต่างของหน่วยเสียงในภาษาของตนเอง เช่น เสียง /k/ และ /kh/ ในคำไก่และไข่ และจำต้องเรียนรู้ความแตกต่างของเสียงต้น เสียงกลาง และเสียงท้ายของคำ โดยเด็กในวัยนี้จะเรียนรู้ทักษะดังกล่าวโดยไม่ยากนัก และทักษะเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการเรียนการอ่าน แต่สำหรับเด็กที่เป็น CAPD แล้ว ทักษะเหล่านี้จะเป็นทักษะที่ยากที่จะเรียนรู้ ดังนั้นเด็กที่เป็น CAPD จะมีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ในเมื่อเข้าเรียนและจะแสดงปัญหามากขึ้น เมื่อมีการสอนอ่านตัวอักษรในชั้นเรียน และจะมีปัญหาตามมาโดยเด็กเหล่านี้จะมีปัญหาด้านทักษะทางวิชาการ และตามบทเรียนไม่ทันเพื่อน
 
เด็กวัยเรียนในโรงเรียน
เด็กบางคนจะผ่านวัยอนุบาลมาสู่โรงเรียนได้โดยที่ปัญหาในการฟังไม่เป็นที่สังเกต เด็กเหล่านี้จะใช้สายตาทดแทนการฟัง ดูท่าทางการไหวของคู่สนทนา และทำการคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นทักษะที่ใช้ทดแทนทักษะในการฟัง เนื่องจากเด็กเหล่านี้ดูเหมือนตั้งใจมองคู่สนทนา จึงทำให้ผู้อื่นคิดว่าเด็กเหล่านี้เป็นผู้ฟังที่ดีกว่าเด็กคนอื่นในห้อง เด็กที่เป็น CAPD อาจมีปัญหาในการสนทนาทางโทรศัพท์ การฟังการประกาศทางลำโพงในที่สาธารณะ หรือมีปัญหาในการเข้าใจการสนทนาจากเทป เนื่องจากเสียงพูดเหล่านี้จะไม่สามารถมองเห็นด้วยสายตา และอาจมีความผิดเพี้ยนของคุณภาพของเสียง เด็กพวกนี้จะชอบดูวีดีโอมากกว่าฟังเสียงจากเทป และมักชอบเล่นเกมส์ที่ใช้ท่าทางและกำลังมากกว่าการนั่งฟังการเล่าเรื่อง เมื่อเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เด็กเหล่านี้จะต้องเข้าเรียนในชั้นที่มีเด็กเป็นจำนวนมากเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยที่ต้องฟังการสอนจากการฟังโดยมาก 
เมื่อเด็ก CAPD ต้องเรียนการสะกดคำ เด็กเหล่านี้จะเรียนช้ากว่าเด็กคนอื่น และอาจทำท่ากระตือรือร้นในการเรียนเพื่อกลบเกลื่อนปัญหาของเขา พอถึงปลายภาคการศึกษา เด็กเหล่านี้จะเรียนไม่ทัน ไม่สามารถเข้าใจคำสั่งของครู และไม่สามารถอ่านสะกดคำได้ ปัญหาเหล่านี้จะค่อยๆ เผยให้เห็นถึงความยากลำบากในการอ่าน และครูจะเป็นผู้ริเริ่มเห็นปัญหาของเด็กเหล่านี้
เด็กบางคนในระหว่างชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 อาจอาศัยเพื่อนในชั้นในการช่วยเหลือ จึงทำให้ครูยังไม่เห็นปัญหาของการเป็น CAPD และครูอาจมองว่า ?เด็กผู้ชายก็เป็นอย่างนี้แหละ? หรือ ?เด็กผู้หญิงคนนี้ต้องการฟังในสิ่งที่ตนเองสนใจ? และการสอนในชั้นเรียนที่ครูพูดซ้ำๆ สามารถช่วยให้เด็กเหล่านี้ซ่อนปัญหาของ CAPD ได้จนกระทั่งเรียนในชั้นมัธยมศึกษา และเมื่อเข้าชั้นมัธยมศึกษาแล้ว การเรียนต้องอาศัยการฟังมากขึ้น และภาพต่างๆ ในหนังสือจะน้อยลง
ครูในชั้นประถมศึกษาอาจช่วยเด็ก CAPD ได้โดยการพูดให้สั้นลง พูดประโยคหรือข้อความซ้ำ ใช้เครื่องมืออื่นๆ เข้าช่วยในการสอน และจัดที่นั่งให้เด็กนั่งหน้าชั้นเรียน วิธีการเหล่านี้สามารถช่วยให้เด็ก CAPD สามารถเรียนรู้ได้ในชั้นเรียน เด็ก CAPD บางคนสามารถเรียนคณิตศาสตร์ได้ แต่อาจมีปัญหากับโจทย์คณิตศาสตร์ที่ต้องอ่านคำยาก
ถ้าอาการ CAPD เริ่มมีมากขึ้น เด็กอาจขาดความเชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกว่าไม่มีผู้ใดช่วยเหลือเขา และกลัวความล้มเหลว ซึ่งอาจมาพร้อมกับความรู้สึกว่าพวกเขา ?โง่? มีปัจจัยหลายประการในห้องเรียนที่ทำให้การเรียนรู้ยากลำบากสำหรับเด็กเหล่านี้ เช่น เสียงรบกวนในห้องเรียนจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้เด็ก CAPD ไม่สามารถมีสมาธิในการเรียนได้ดีกว่าเด็กคนอื่น เสียงของครูในชั้นเรียนอาจจะดังหรือค่อยในช่วงประมาณ 20dB เมื่ออยู่ในเสียงรบกวน และระยะระหว่างครูและนักเรียนในชั้นเรียน และเสียงก้องในชั้นเรียนเป็นปัจจัยที่ทำให้การเรียนรู้ของเด็ก CAPD ยากขึ้น การสะท้อนของเสียงในชั้นเรียนขึ้นอยู่กับขนาดของชั้นเรียน ปริมาณของพื้นที่ก่อให้เกิดเสียงสะท้อน เช่น พื้นห้อง กำแพง โต๊ะ เก้าอี้ และกระดานดำ และปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้สร้างปัญหาในการฟัง เช่น จังหวะและเสียงพูดของครูในชั้นเรียน ทิศทางที่ครูพูดไปยังนักเรียน จำนวนนักเรียนในห้อง ตำแหน่งของห้องเรียนที่ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมของเสียงรบกวน เช่น ทางเดิน โรงอาหาร ตลาด สนามเด็กเล่น และตำแหน่งที่นั่งของเด็ก


สำหรับเด็กที่มีปัญหาในการประมวลสัญญาณเสียง ระบบประสาทส่วนกลางจะทำหน้าที่เติมเต็มข้อมูลที่หายไปและจะไม่มีความยากลำบากในการเรียนรู้ แต่สำหรับเด็ก CAPD นั้น พวกเขาจำเป็นต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการฟังและตั้งใจเรียน โดยใช้วิธีการต่างๆ เพื่อมาชดเชยความลำบากในการฟัง นอกจากนั้นแล้วความเหนื่อยและความเบื่อหน่ายในการเรียนยังสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น จึงทำให้พวกเขาดูเหมือนไม่สนใจในบทเรียน และครูอาจคิดว่าเขาเป็นเด็กสมาธิสั้น เด็ก CAPD เมื่ออยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมเรียนจะมีปัญหาในการประมวล และเข้าใจคำพูดของครู และเพื่อน และอาจมีปัญหาในการเข้าใจบทเรียน เมื่อต้องเปลี่ยนวิชาหรือชั้นเรียน ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กในชั้นเรียนนั้น จึงไม่ยากที่จะเห็นว่าปัญหา CAPD จะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใดต่อการศึกษาของเด็กโดยเฉพาะปัญหาการอ่าน
 
การช่วยเหลือเด็ก CAPD
1. ให้ความรู้แก่ครูและบุคลากรในโรงเรียนเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการสอน การปรับสภาพแวดล้อม และรู้จักเด็กเหล่านี้ 
2. จัดที่นั่งให้เด็กเพื่อที่ให้เด็กสามารถเห็นครูได้ชัดเจน เห็นกระดานได้ชัดเจน และพยายามจัดที่นั่งของเด็กให้ห่างจากเสียงรบกวน
3. พยายามหาวิธีในการลดระดับเสียงรบกวนในห้องเรียน เช่น การใช้วัสดุซับเสียงในการสร้างกำแพงและเพดานห้อง
4. ใช้อุปกรณ์เสริมในการฟัง (Assistive Listening Devices : ALD) เพื่อขยายเสียงของครูให้ชัดเจนมากขึ้น  โดยครูจะใช้ไมโครโฟนในขณะที่พูด และเด็กสวมหูฟังเพื่อรับเสียงของครู
 
โปรแกรมที่ผ่านการวิจัยที่ให้ความช่วยเหลือแก่เด็ก CAPD
Battin, Young และ Burns (2000) ได้รายงานการเก็บข้อมูลจากการสุ่มตัวอย่างเด็ก 15 คน มาจากเด็กมากกว่า 50 คน ที่เข้าร่วมในโปรแกรม Fast Forward หลังจากที่เด็กเหล่านี้ได้รับการตรวจการได้ยินแล้วว่า มีอาการ CAPD เด็กกลุ่มนี้ได้ถูกส่งต่อเพื่อตรวจการได้ยิน เนื่องจากพวกเขามีปัญหาด้านวิชาการหรือมีปัญหาด้านการอ่าน ในกลุ่มนี้มีเด็ก 7 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาทางภาษา เด็กกลุ่มนี้ทั้งหมดมีผลตรวจการได้ยินปกติ ยกเว้นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่มีประวัติหูอักเสบเรื้อรังตั้งแต่ขวบปีแรก
หลังจากที่เด็กเหล่านี้เข้าร่วมเรียนในโปรแกรม Fast Forward แล้ว และได้รับการทดสอบ โดยใช้ SCAN (A Screening Test for Auditory Processing Disorder) เด็กเหล่านี้มีผลการทดสอบที่ดีขึ้น โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นในแบบทดสอบย่อย ดังต่อไปนี้ มีคะแนนเพิ่มขึ้น 5 คะแนน จาก Filtered Words Subtest, t = 7.375, p< .0005 มีคะแนนเพิ่มขึ้น 4.5 คะแนน จาก Auditory Figure Ground Subtest, t = 5.315 p< .0005 และมีคะแนนเพิ่มขึ้นใน Competing Words Subtest, t = 4.375, p< .0005 
ในด้านการทอสอบทางภาษา เด็กกลุ่มนี้ได้รับการทดสอบโดยใช้ TOLD (Test of Language Development) โดยมีผลดังนี้ เด็กมีคะแนนเพิ่มขึ้น 4 คะแนนใน Oral Vocabulary subtest มีคะแนนเพิ่มขึ้น 3 คะแนน ใน Grammatical Understanding subtest และ คะแนนเพิ่มข้น 2 คะแนนใน Sentence Imitation subtest โดยคะแนนเหล่านี้รานงานเป็นค่า Standard scores คะแนนที่ได้จากการทดสอบเหล่านี้ตรงกับคะแนนที่ได้จากการรายงานจากการนำ Fast Forward ไปใช้ทั่วประเทศ ซึ่งใช้กับเด็กมากกว่า 500 คน ทั่วทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา
 
ท่านจะทำอย่างไรถ้าท่านคิดว่าเด็กของท่านมีปัญหา CAPD
ถ้าเด็กของท่านมีลักษณะหรือพฤติกรรมดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และท่านสงสัยว่าเด็กของท่านเป็น CAPD ท่านควรพาเด็กไปพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อตรวจปัญหาหูอักเสบเรื้อรังหรือปัญหาประสาทหูเสื่อม ถ้าผลการตรวจการได้ยินแสดงว่าเด็กมีการยินปกติแล้ว นักแก้ไขการได้ยินจะตรวจเพิ่มเติมโดยใช้การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อในหูชั้นกลาง (Auditory Brainstem Test) และการทดสอบอื่นๆ ที่เหมาะสม จากนั้น เมื่อทราบแล้วว่าเด็กมีปัญหา CAPD เด็กควรได้รับการช่วยเหลือจากครูการศึกษาพิเศษ นักแก้ไขการพูดและนักวิชาชีพอื่นๆ ที่จำเป็น โดยควรระลึกเสมอว่า เซลล์สมองของเด็กจะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาให้ดีขึ้นได้ถ้าได้รับการกระตุ้น หรือช่วยเหลือที่เหมาะสม
 
 
ผศ.ดร.ศิริพันธ์  ศรีวันยงค์ แปลและเรียบเรียงจาก 
Recognizing and Training Children with Central Auditory Processing 
Disorders (Maxine L.Young)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้