ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา
วิชาชีพโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดและสมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย


       เมื่อปี พ.ศ. 2514 นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ได้สำเร็จการศึกษาการศึกษาปริญญาโททางด้านโสตสัมผัสวิทยา และอาจารย์รจนา ทรรทรานนท์ ได้สำเร็จการศึกษาปริญญาโททางด้านความผิดปกติทางภาษาและการพูดจาก Temple University ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มเปิดให้บริการเพื่อช่วยผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางการสื่อความหมาย ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จนกระทั่งปี พ.ศ. 2519 ศาสตราจารย์นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นความสำคัญของการให้บริการทางด้านนี้ จึงได้มีดำริให้อาจารย์ทั้งสองท่านจัดทำหลักสูตรและเปิดสอนวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย ในระดับปริญญาโท โดยแยกเป็น 2 วิชาหลักได้แก่ วิชาโสตสัมผัสวิทยา (Audiology ) และวิชาความผิดปกติทางภาษาและการพูด (Speech-Language Pathology) ซึ่งนับเป็นสถาบันแห่งแรกในประเทศไทยที่ทำการผลิตนักแก้ไขการได้ยินและนักแก้ไขการพูดเพื่อกระจายการบริการ  ให้แก่ผู้ที่มีความผิดปกติทางการสื่อความหมายทั่วประเทศ  ในเวลาต่อมาคณะกรรมการหลักสูตรในสถาบันได้ทำการเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนักแก้ไขการได้ยินในการตรวจการได้ยินขั้นพื้นฐาน

        เวลาผ่านไปเกือบสองทศวรรษ ในปี พ.ศ. 2538 จำนวนนักแก้ไขการได้ยินและนักแก้ไขการพูดทั่วประเทศ ยังมีไม่เพียงพอต่อการให้บริการแก่ประชาชนทั่วประเทศ เนื่องจากสถาบันมีกำลังผลิตที่จำกัด  ไม่มีตำแหน่งรองรับบุคลากรที่ชัดเจน รวมทั้งมีการใช้บุคลากรอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน ทำให้การบริการไม่ได้มาตรฐาน ขาดคุณภาพ บุคลากรในวิชาชีพจึงมีความเห็นพ้องกันว่า ควรดำเนินการจัดตั้งเป็นสมาคมวิชาชีพฯเพื่อผลักดันในเรื่องการกำหนดตำแหน่ง ให้ถูกต้องเหมาะสมกับลักษณะงานที่ปฏิบัติและดำเนินการเพื่อให้วิชาชีพมีการขึ้นทะเบียนประกอบโรคศิลปะ ทั้งนี้ เพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของการให้การบริการ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชนผู้รับบริการ  คณะกรรมการหลักสูตรในสถาบันได้เปิดรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรี  เพื่อให้สามารถผลิตจำนวนนักวิชาชีพเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2547  ในขณะเดียวกันได้ยกระดับการศึกษาจากประกาศนียบัตรเป็นอนุปริญญา ในปี พ.ศ. 2542


       สำหรับการขึ้นทะเบียนประกอบโรคศิลปะ คณะกรรมการสมาคมฯใช้เวลาประมาณ 6 ปี ในการดำเนินการตามขั้นตอนจนกระทั่งรัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้สาขาการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 และ พ.ศ. 2545  ณ วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 นักวิชาชีพสาขานี้ทุกคนต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะ และมีเลขวิชาชีพเพื่อประกอบอาชีพทางด้านแก้ไขการได้ยินหรือแก้ไขการพูด จากกองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข จึงถือว่าเป็นผู้ที่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกกฎหมายแห่งวิชาชีพตามพระ ราชบัญญัติ

        สมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย ได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนเป็นสมาคมฯเมื่อ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2540 โดยความร่วมมือของคณะกรรมการชมรมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูด อันเป็นศูนย์รวมของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ที่มีความผิดปกติ ของการสื่อความหมายในขณะนั้น ได้แก่ นักแก้ไขการได้ยิน (เดิมใช้นักโสตสัมผัสวิทยา) นักแก้ไขการพูด และ เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย


การศึกษาทางวิชาชีพโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูด 

        เป็นหลักสูตรที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  แต่ปัจจุบัน ได้แยกออกมาเป็นภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  โดยเปิดการเรียนการสอนเป็น 2 ระดับ คือ
1. ระดับปริญญาตรี (วท.บ) ความผิดปกติของการสื่อความหมาย  วิชาเอกแก้ไขการได้ยิน และ วิชาเอกแก้ไขการพูด
2. ระดับปริญญาโท (วท.ม) ความผิดปกติของการสื่อความหมาย วิชาเอกแก้ไขการได้ยิน และ วิชาเอกแก้ไขการพูด
         ทั้ง 2 ระดับการศึกษา จะต้องทำการศึกษาหลักสูตรที่เป็นทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ โดยภาคปฏิบัติจะต้องผ่านการฝึกปฏิบัติงานในคลินิกอย่างน้อย 350 ชม. ในการประเมิน คัดกรอง วินิจฉัย และวางแผน ฟื้นฟูคนไข้ที่มีความผิดปรกติทางด้านการได้ยินและการพูด  เมื่อจบการศึกษานักศึกษาจะต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะ และมีเลขวิชาชีพเพื่อประกอบอาชีพทางด้านแก้ไขการได้ยินหรือแก้ไขการพูด จากกองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข  จึงถือว่าเป็นผู้ที่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกกฎหมายแห่งวิชาชีพตามพระราชบัญญัติ

 ขอบข่ายงานวิชาชีพ แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ

 1. งานด้านโสตสัมผัสวิทยา  
มีนักแก้ไขการได้ยิน (Audiologist) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยหาพยาธิสภาพของระบบการได้ยินที่เกิดขึ้นตั้งแต่หูชั้นนอก หูชั้นกลาง หูชั้นใน ก้านสมอง และสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินด้วยวิธีปกติและวิธีพิเศษ ตลอดจนตรวจวินิจฉัยหาพยาธิสภาพของระบบที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัว ตรวจเพื่อค้นหาความผิดปรกติทางการได้ยินในทารกแรกเกิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเพื่อติดตามผลและวางแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน โดยการประเมินผลเพื่อเลือกและใส่เครื่องช่วยฟังให้เหมาะสมกับระดับการสูญเสียการได้ยินของผู้ป่วย

 2. งานด้านแก้ไขการพูด  
มีนักแก้ไขการพูด (Speech & Language Pathologist) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการวินิจฉัยความผิดปรกติทางภาษาและการพูด การคัดกรองหาข้อบ่งชี้ ประเมินสภาพความผิดปรกติ ทดสอบความสามารถทางภาษาและการพูดรวมถึงการกลืน แยกประเภทความผิดปรกติต่างๆ บำบัดรักษา แก้ไข และฟื้นฟูสมรรถภาพครอบคลุมได้ทุกประเภทของความผิดปรกติ เช่น พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด เสียงผิดปรกติ ปากแหว่งเพดานโหว่ ประสาทหูพิการ สติปัญญาอ่อน กลืนลำบาก กลืนผิดวิธี ผู้ป่วยที่ผ่าตัดกล่องเสียง เป็นต้น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้