นักแก้ไขการได้ยิน

นักแก้ไขการได้ยินหรือนักโสตสัมผัสวิทยา (Audiologist)
 
อ้างอิงจากจรรยาบรรณเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูด, 2543
 

ลักษณะงาน

ปฎิบัติงานเกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยหาพยาธิสภาพของระบบการได้ยินที่เกิดขึ้น ตั้งแต่หูชั้นนอก หูชั้น กลาง หูชั้นใน ก้านสมอง และสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินด้วยวิธีปกติและวิธีพิเศษ ตลอดจนตรวจวินิจฉัยหาพยาธิสภาพของระบบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ 

  • ระบบการทรงตัว
  • ตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติทางการได้ยินในเด็กแรกเกิดโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง  เพื่อติดตามผลและวางแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพตรวจเพื่อหาความผิดปกติทางการได้ยินในเด็กก่อนวัยเรียน  และตรวจเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้า
  • การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยิน โดยประเมินผลเพื่อเลือกเครื่องช่วยฟังให้เหมาะกับการสูญเสียการได้ยินของผู้ป่วย 
  • การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการฟังในผู้ป่วยผู้ใหญ่และผู้ป่วยเด็กหูพิการแต่กำเนิด  
  • การรณรงค์ป้องกันโรคหู หูหนวก หูตึงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและชุมชน
  • การอนุรักษ์การได้ยินของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม การให้ความรู้แก่ประชาชน    
  • ปฎิบัติงานวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพงานด้านบริการ บริหาร การเป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้แก่บุคคลากรที่เกี่ยวข้อง


คุณสมบัติเฉพาะ   

จบปริญญามหาบัณฑิต หรือ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตด้านศิลปศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย วิชาเอก โสตสัมผัสวิทยา (Audiologist)


 

ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติ

  • ต้องรู้ระบบสรีรวิทยาและกายวิภาค  ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อความหมาย  ได้แก่  ระบบการได้ยิน  ระบบการพูด  ระบบการทรงตัว  และระบบสมองส่วนกลาง
  • ต้องมีความรู้เกี่ยวกับโรคหู  โรคอื่นๆ  และพยาธิสภาพที่เป็นสาเหตุของความผิดปกติของการได้ยินและการทรงตัว
  • ต้องรู้วิธีตรวจการได้ยิน  เทคนิคในการตรวจ  การเลือกเครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจ  เพื่อให้ผลตรวจถูกต้องแม่นยำ 
  • ต้องมีความรู้และความเข้าใจในการแปลความหมายของผลตรวจแต่ละชนิด  อันจะมีผลต่อการให้การรักษาของแพทย์ 
  • ต้อมีความรู้ในแผนการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการได้ยินทุกประเภท  และสามารถในการช่วยเหลือในหน้าที่หรือให้คำแนะนำผู้ป่วยนั้นๆได้อย่างถูกต้อง 
  • ต้องมีความรู้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินของผู้ป่วย  อันได้แก่  การประเมินและการปรับเครื่องช่วยการได้ยินชนิดต่างๆให้เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย  การออกแบบพิมพ์หูให้เหมาะกับเครื่องช่วยการฟังและหูของผู้ป่วย  การให้คำแนะนำการใช้และการดูแลรักษาเครื่อง  การแก้ไขปัญหาเมื่อเครื่องขัดข้อง  รวมถึงการฝึกฟังในเด็กหูพิการแต่กำเนิดภายหลังการใส่เครื่องช่วยการได้ยิน 
  • ต้องมีความรู้ในด้านการใช้เครื่องมือตรวจชนิดต่างๆ  การดูแลรักษา  การตรวจเช็คสภาพเครื่อง (Calibration)  เพื่อให้ใช้งานได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพ 
  • ต้องมีความรู้ในด้านการศึกษาวิจัยด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์  ด้านความผิดปกติทางการได้ยินและการทรงตัว  ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์เพื่อพัฒนาวิชาชีพและการบริการ 
  • ต้องใช้การตัดสินใจและจรรยาบรรณในการตรวจวินิจฉัย  การบำบัดรักษา  การให้คำแนะนำ  อันจะมีผลกระทบต่อชีวิตอนาคตความเป็นอยู่  และวิถีการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้