ปัญหาการสื่อความหมายของเด็กสมองใหญ่พิการ

Last updated: 7 พ.ค. 2567  |  3345 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปัญหาการสื่อความหมายของเด็กสมองใหญ่พิการ

ปัญหาการสื่อความหมายของเด็กสมองใหญ่พิการ

Communication Problems in Children with Cerebral Palsy
 
Submitted by webmaster on Tue, 08/19/2014 - 20:04


บทคัดย่อ
สมองใหญ่พิการ (ซีพี) เป็นความผิดปกติของการเคลื่อนไหวซึ่งมีสาเหตุจากการบาดเจ็บที่สมอง  การบาดเจ็บของสมองทำให้สมองใหญ่พิการแล้วยังนำไปสู่การมีปัญหาต่าง ๆ เช่น การชัก  ปัญหาการเห็น  การได้ยิน  การสื่อความหมาย  ความบกพร่องทางเชาว์ปัญญาและปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ ปัญหาการสื่อความหมายประกอบด้วย พัฒนาการภาษาล่าช้าไม่สมวัย  และปัญหาการพูดผิดปกติหลายอย่างร่วมกัน  ปัญหาการพูดผิดปกติ  ได้แก่  การพูดไม่ชัด  พูดเสียงผิดปกติ  การสั่นพ้องของเสียงผิดปกติและอัตราเร็วของการพูดผิดปกติ  วัตถุประสงค์ของการฝึกภาษาและการพูดคือช่วยเพิ่มทักษะการสื่อความหมาย  ซึ่งได้แก่ การสื่อความหมายแบบธรรมชาติและการสื่อความหมายเสริมและทางเลือกเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กให้ดีขึ้น 
 
Abstract
Cerebral palsy (CP) is a movement disorder caused by brain damage. Brain damage that leads to cerebral palsy can also lead to other health problems including epilepsy, vision, hearing, and communication problems, intellectual deficits, and behavioral and emotional disturbance. Communication problems consist of delayed language development and multiple speech disorders. Speech problems include articulation, voice, resonation disorders, and abnormal speech rate.  The objective of speech and language therapy is to help children with cerebral palsy to maximize their communication skills which include natural forms of communication and augmentative and alternative communication in order to improve their quality of life.  
 
 
 
ปัญหาการสื่อความหมายของเด็กสมองใหญ่พิการ
Communication Problems in Children with Cerebral Palsy 
 
สมองใหญ่พิการ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2544) หรือ ซีรีบรัล พาลซี หรือ Cerebral palsy (CP) ไม่ใช่โรคแต่เป็นภาวะของการมีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวร่างกายซึ่งเกิดจากการมีความบกพร่องของระบบประสาท (Love & Webb, 1992; Hegde, 2008) นายแพทย์ลิตเติล (Little) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษเป็นบุคคลแรกที่รายงานเรื่องสมองใหญ่พิการเมื่อ ค.ศ. 1860 (Love, 2000) ความผิดปกติของการเคลื่อนไหวร่างกายทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียน การทำงาน การมีส่วนร่วมและการช่วยเหลือสังคม 


อุบัติการณ์
เลิฟ (Love) รายงานว่า เด็กเกิดใหม่ประมาณ 2:1000 มีสมองใหญ่พิการ และในปี คศ. 2000 มีเด็กประมาณ 400,000 คนในสหรัฐที่มีสมองใหญ่พิการ (Love, 2000) เด็กวัยเรียนประมาณ 1-2:1000 มีสมองใหญ่พิการ (Love & Webb, 1992) รายงานจากหลายการศึกษาสรุปว่าในบรรดาเด็กที่มีสมองใหญ่พิการมีผู้มีปัญหาการสื่อความหมายประมาณร้อยละ 31-88 (Yorkston, Beukelman & Bell, 1997) 


สาเหตุ
สมองใหญ่พิการ หรือ Cerebral palsy นั้นยากที่จะชี้เฉพาะว่าเป็นเพราะเหตุใด Hegde (1996) รายงานว่า สมองใหญ่พิการที่ทราบสาเหตุมีประมาณร้อยละ 60  โดยสรุปแล้วสาเหตุของสมองใหญ่พิการที่แบ่งตามระยะเวลาของการเกิดปัญหามีดังนี้
แต่กำเนิด: ความผิดปกติของสมองที่ติดตัวเด็กมาแต่กำเนิด (Hegde, 2008)
ระยะระหว่างตั้งครรภ์: โรคของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ เช่น  หัดเยอรมัน คางทูม หรือมารดาได้รับรังสีมากเกินไป หรือได้รับสารพิษต่าง ๆ  มารดาได้รับอุบัติเหตุต่างๆ หรือกลุ่มเลือดไม่เข้ากัน หรือเกิดภาวะขาดออกซิเจนในเด็ก (Hegde, 2008)
ระยะการคลอด: คลอดก่อนกำหนด  ภาวะคลอดเร็วเกินไป ท่าคลอดผิดปกติ เช่นเด็กท่าก้น หรือเด็กตัวขวางไม่กลับหัว หรือเด็กขาดออกซิเจนระหว่างการคลอด (Love, 2000)
ระยะหลังคลอด: โรคของเด็กหลังเกิดแล้ว เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คางทูม หรือมีเนื้องอกที่ศีรษะ หรือศีรษะได้รับบาดเจ็บเช่นการได้รับอุบัติเหตุต่าง ๆ (Love, 2000)


ลักษณะโดยทั่วไปของเด็ก Cerebral Palsy
1. การเคลื่อนไหว เด็กสมองใหญ่พิการมีปัญหาในการเคลื่อนไหว เช่น แขนขาเกร็ง เดินสะเปะสะปะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง บางคนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดังต้องการซึ่งขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพที่สมอง (Hegde, 1996; Love, 2000)  
2. พัฒนาการด้านร่างกาย  เด็กสมองใหญ่พิการมีพัฒนาด้านร่างกาย เช่น นั่ง ยืน เดิน ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน หยิบจับสิ่งของไม่มั่นคง ทำของตกหล่นบ่อย เมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน บางรายมีพัฒนาด้านร่างกายช้ากว่าเด็กทั่วไปถึง 10-24 เดือน (Hegde, 1996)
3. การทำงานของอวัยวะที่ใช้ในการพูด เด็กสมองใหญ่พิการมีการทำงานของอวัยวะที่ใช้ในการพูดผิดปกติแบบต่างๆซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของพยาธิสภาพในสมองเช่น การเคลื่อนไหวอ่อนแรง การเคลื่อนไหวช้า การเคลื่อนไหวในขีดจำกัด การทำงานไม่ประสานงานกัน หรือไม่สามารถบังคับการเคลื่อนไหวได้ ทำให้เด็กมีปัญหาการกิน ดูด เคี้ยว กลืน ปิดปากไม่สนิท น้ำลายไหล หน้าบิดเบี้ยว ปากเบี้ยว แลบลิ้น ปัดลิ้น ยกลิ้นไม่ได้ หรือทำได้ลำบาก (Workinger & Kent, 1991; Love, 2000)
ปัญหาของการสื่อความหมาย  แบ่งเป็นปัญหาด้านการพูดและปัญหาด้านภาษา 
4.1 ปัญหาด้านการพูด
การพูดผิดปกติในเด็กสมองใหญ่พิการ หรือ ดิสอารเทรีย (dysarthria)  หรือ
การพูดไม่เป็นความ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2544) เป็นการพูดผิดปกติหลายแบบรวมกัน คือมีความผิดปกติของ การหายใจ การเปล่งเสียง การแปรเสียง การก้องของเสียง และลีลาจังหวะการพูดผิดปกติ ซึ่งเป็นผลจากความบกพร่องของระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะที่ใช้ในการพูดที่เกิดจากการมีพยาธิสภาพที่ระบบประสาทส่วนกลางหรือส่วนปลายก็ได้ (Darley, et al., 1975; Workinger & Kent, 1991)  
ปัญหาการหายใจเพื่อการพูด (respiration problems)  เด็กสมองใหญ่พิการ
อาจมีการหายใจตื้น หายใจบ่อย หายใจไม่สม่ำเสมอ มีลมหายใจออกมาก่อนที่จะเปล่งเสียงพูด บางคนหายใจขาดเป็นห้วง ๆ ทำให้พูดเสียงไม่ติดต่อกัน หรือออกเสียงขาดเป็นช่วง ๆ ทำให้ฟังลำบาก (Hegde, 2008) 


     ปัญหาของเสียงพูด (voice problems)  เด็กสมองใหญ่พิการ อาจพูดเสียงดัง-เบาผิดปกติ ควบคุมเสียงไม่ได้ มีเสียงแหบ เสียงลมแทรก (Hegde, 1996) บางคนพูดระดับเสียง เดียวกันหมด และไม่สามารถควบคุมระดับเสียงสูงต่ำได้ (Workinger & Kent, 1991) 
ปัญหาการพูดไม่ชัด (articulation problems) ที่พบมากที่สุด คือการพูดเสียง
เสียดสีที่ใช้ปลายลิ้นกับปุ่มเหงือกเป็นฐานกรณ์ เพราะเป็นเสียงที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดเล็กมากกว่าเสียงอื่นๆ เช่น เสียง /ส/ ต้องมีการแตะของปลายลิ้นหลังปุ่มเหงือกที่พอเหมาะในขณะเดียวกันต้องปล่อยลมออกตามไรฟันที่พอเหมาะจึงจะได้เสียง /ส/ ที่ชัดเจน Workinger และ Kent (1991) รายงานว่าลักษณะของการพูดไม่ชัดของเด็กสมองใหญ่พิการ มีทั้งแบบพูดแทนที่เสียงที่ถูกต้อง พูดเสียงเพี้ยน หรือพูดละเสียง 
       ปัญหาด้านการสั่นพ้องของเสียงหรือความก้องของเสียง (resonation 
problems) เด็กสมองใหญ่พิการอาจพูดเสียงขึ้นจมูกเนื่องจากมีความบกพร่องของการเคลื่อนไหวของเพดานอ่อนและผนังคอ เช่นเปิด-ปิด ช้าเกินไป แตะกันไม่สนิท หรือเปิดก่อนที่จะสิ้นสุดการพูดซึ่งอาจทำให้เด็กพูดเสียงขึ้นจมูกในเสียงที่ไม่ควรขึ้นจมูก
  อัตราการพูดผิดปกติ (abnormal speech rate)  เด็กสมองใหญ่พิการส่วนใหญ่จะพูดช้าหรือ พูดไม่เป็นจังหวะ พูดไม่ราบเรียบ พูดไม่คล่อง  เด็กบางคนมีลักษณะการพูดแบบคล้ายติดอ่างด้วย (Hegde, 1996)


4.2 พัฒนาภาษาและการพูดล่าช้า เด็กสมองใหญ่พิการอาจมีพัฒนาภาษาล่าช้า
เนื่องจาก 2 สาเหตุคือ ปัญหาเกิดที่ตัวเด็กเอง  คือ เด็กมีปัญหาอื่นร่วมกับสมองใหญ่พิการเช่น 
เชาว์ปัญญาต่ำ ปัญหาด้านอารมณ์ หรือปัญหาการได้ยิน เป็นต้น (Hegde, 1996) และปัญหาผู้คนล้อมรอบเช่นพ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิดปกป้องเด็กมากเกินไป หรือในทางตรงข้ามพ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิดปฏิเสธไม่ยอมรับปัญหาของเด็ก ทำให้เด็กขาดโอกาสได้รับการกระตุ้นการพัฒนาภาษาที่เหมาะสม (Rollin, 2000) นอกจากนี้ทัศนคติของผู้คนแวดล้อมมีผลต่อพัฒนาภาษาและการพูดของเด็ก เพราะหากมีทัศนคติลบต่อเด็ก เช่น เชื่อว่าเด็กไม่สามารถพัฒนาภาษาและการพูดได้จะทำให้ขาดแรงจูงใจในการส่งเสริมหรือให้โอกาสเด็กได้สื่อภาษาโดยการพูด (Rollin, 2000)
การประเมินทางภาษาและการพูด (Speech and Language Evaluation) 


การประเมินภาษา
เด็กสมองใหญ่พิการควรได้รับการประเมินความเข้าใจภาษา และการใช้ภาษา พฤติกรรมในการเข้าสังคมว่าสมวัยหรือไม่โดยการพูดคุย สนทนา และเล่นกับเด็ก สังเกตพฤติกรรมการสื่อความหมายของเด็กกับพ่อแม่ ร่วมกับการสัมภาษณ์พ่อแม่ถึงเรื่องการสื่อความหมายของเด็กที่บ้าน สำหรับเรื่องพัฒนาภาษาและการพูดของเด็ก อาจใช้ข้อมูลจากพัฒนาภาษาและพูดของเด็กปกติเป็นแนวทางในการประเมินได้ เมื่อสงสัยว่าเด็กมีปัญหาด้านใดด้านหนึ่ง หรือต้องการข้อมูลเพิ่มควรใช้  แบบทดสอบมาตรฐานที่ใช้เพื่อประเมินความสามารถทางภาษาและการพูด ควรเลือกทดสอบตามปัญหาและอายุของเด็ก มีหลายแบบทดสอบเช่น แบบทดสอบการฟังเข้าใจภาษา (Liengswnagwong, 2010) แบบทดสอบการเข้าใจและการใช้ภาษา (Lattanan, et al, 2011) เป็นต้น


การประเมินการพูด
  การประเมินด้านการพูดนั้น สิ่งสำคัญในการประเมินการพูดของเด็กสมองใหญ่พิการ คือการประเมินในด้านระยะเวลาที่ใช้ในการเคลื่อนไหวอวัยวะเพื่อการพูด และความแข็งแรงของการหดตัวของกล้ามเนื้อ อัตราเร็ว ช่วงกว้างของการเคลื่อนไหวอวัยวะ และความแม่นตรงของการเคลื่อนไหวอวัยวะที่ใช้ในการพูด (Darley, Aronson & Brown, 1975; Workinger & Kent, 1991) 
วิธีการประเมินแบ่งเป็น
การประเมินโดยการฟังเสียงพูด เช่น  ฟังเสียงการสนทนาหรือ ฟังเสียงจากการทดสอบลักษณะการพูดแบบต่าง ๆ 
การประเมินแบบสังเกตการณ์ เช่น สังเกตอิริยาบถของเด็ก ความสามารถ หรือการเคลื่อนไหวของอวัยวะที่ใช้ในการพูด เช่น เคลื่อนไหวลิ้นได้ช้า หรือเร็ว
การประเมินการพูดโดยใช้เครื่องมือ เช่น เครื่องวัดระดับเสียงและความดังของเสียง เครื่องวัดความก้องของเสียง เป็นต้น การประเมินโดยใช้เครื่องมือนี้ นอกจากจะใช้ยืนยันผลการประเมินโดยการฟังเสียงพูดแล้วยังใช้เป็นหลักฐานให้เห็นถึงความก้าวหน้าของการฝึกพูดได้ชัดเจนกว่าการประเมินโดยการฟังอย่างเดียว (Yorkston, Beukelman & Bell, 1997) อย่างไรก็ตามมีคลินิกเพียงบางแห่งเท่านั้นที่มีเครื่องมือครบครันที่ใช้ประเมินความผิดปกติของการพูดลักษณะนี้ แม้ในสหรัฐอเมริกาก็ตาม (Yorkston, Beukelman & Bell, 1997)


ขั้นตอนการประเมิน แบ่งเป็น
การซักประวัติการคลอด ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการได้รับการรักษาด้านต่าง ๆ  ผลการวินิจฉัยของแพทย์ ประวัติพัฒนาการด้านร่างกาย และพัฒนาการด้านสังคม ภาษาที่ใช้ในบ้านและวิธีการสื่อภาษาของเด็ก 
ประเมินโครงสร้าง และ การทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดในขณะไม่ออกเสียงพูด โดยสังเกต ความแข็งแรง ความสมมาตรและการทำงานประสานงานกันทั้งในท่าพักและขณะเคลื่อนไหว
ประเมินความสามารถของการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดในขณะออกเสียงพูด โดยประเมินแยกแต่ละระบบตั้งแต่ การหายใจ การเปล่งเสียง การสั่นพ้องของเสียง การแปรเสียงและลีลาจังหวะการพูด
ประเมินความสามารถทุกด้านของขบวนการพูดโดยรวม เช่น สังเกตตั้งแต่การหายใจ การเปล่งเสียง การเคลื่อนไหวฐาน-กรณ์ ว่ามีปัญหาของการทำงานที่ทำให้เกิดปัญหาของการพูดหรือไม่ 
ประเมินความสามารถด้านภาษาทั้งด้านความเข้าใจและการใช้ภาษา และความเหมาะสมในการใช้ภาษาสังคมเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น (Hegde, 2008)


การฟื้นฟูด้านภาษาและการพูด (Speech and Language Rehabilitation)
การฝึกพูดมีวัตถุประสงค์ให้เด็กสามารถสื่อความหมายได้ โดยใช้ความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพเพื่อให้สามารถพึ่งตัวองและตำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ ควรให้ความช่วยเหลือเด็กด้านการพัฒนาภาษาและพูดให้เร็วที่สุด คือตั้งแต่เล็ก ๆ  เพื่อป้องกันปัญหาพัฒนาการพูดล่าช้าและเตรียมความพร้อมในการฝึกพูดต่อไป  โปรแกรมของการพูด ได้แก่
การบริหารกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการพูด โดยการกระตุ้นให้เด็ก เคี้ยว ดูด กลืน
อาหารให้ถูกต้องซึ่งจะส่งผลให้เด็กออกเสียงได้ดีขึ้น เพราะช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและผ่อนคลาย หากได้รับการฝึกสม่ำเสมอ เช่น ฝึกเคลื่อนไหวลิ้น และ ฝึกอวัยวะที่ใช้ในการพูดให้แข็งแรง มีแรงต้านในทิศทางต่าง ๆ แตะอวัยวะให้ตรงเป้าหมาย ด้วยอัตราการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมและเคลื่อนไหวเร็วหรือช้าได้ตามต้องการ Mysak (1986) แนะนำว่าการบริหารกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการพูดจะได้ผลดีต้องคำนึงพัฒนาการทางร่างกายของเด็กให้เป็นไปตามลำดับขั้น  นอกจากนั้นท่าทางและอิริยาบถของเด็กในขณะฝึกต้องเหมาะสม เพื่อลดปัญหาของการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสมของเด็กด้วย 
2. พัฒนาภาษาและการพูด เด็กสมองใหญ่พิการบางคนมีความล่าช้าทางภาษาและการ
พูดด้วย ต้องพิจารณาว่าล่าช้าจากปัญหาใด เช่น เด็กเชาว์ปัญญาต่ำ  เด็กมีปัญหาด้านอารมณ์  เด็กประสาทหูพิการ  หรือเด็กไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาภาษาที่เหมาะสมโดย พิจารณาว่าปัญหาใดควรได้รับการช่วยเหลือ ก่อนหลังหรือให้ความช่วยเหลือไปพร้อม ๆ กัน การกระตุ้นพัฒนาทางภาษาโดยการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมพัฒนาภาษา เช่น พ่อแม่ พูดกับเด็กในขณะที่ทำกิจกรรมกับเด็ก หรือแปลการกระทำของเด็กเป็นคำพูดที่มีความหมาย เพื่อให้เด็กเห็นความสำคัญของการพูด การส่งเสริมการพูดควรสอนในขณะที่เด็กสบาย เช่น ในขณะป้อนอาหาร เล่น หรือขณะที่เด็กผ่อนคลาย การสอนภาษาควรเริ่มจากสอนให้เข้าใจภาษาก่อนแล้วจึงตามด้วยการสอนการใช้ภาษา การสอนภาษาในเด็กสมองใหญ่พิการอาจใช้พัฒนาภาษาและการพูดของเด็กปกติเป็นแนวทางในการสอนได้ 
3. การเข้าสังคม เด็กสมองใหญ่พิการ บางรายมีแนวโน้มจะมีปัญหาในการเข้าสังคม การปรับอารมณ์ ควรฝึกให้เด็กมีโอกาสเข้าสังคมกับเด็กอื่น เพื่อช่วยให้เด็กพัฒนาภาษา ร่างกาย สังคม และอารมณ์ได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
4. ฝึกการหายใจ โดยการฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจแข็งแรงขึ้นเช่นฝึกให้หายใจลึก
และยาวขึ้น ฝึกให้ผ่อนลมหายใจออกโดยการใช้เครื่องมือช่วยหรือใช้ เทคนิคง่ายๆ เช่น ฝึกให้เป่าลมออกจากปากติดต่อกันอย่างราบเรียบ เช่น เป่าเทียนโดยไม่ให้ดับเป็นเวลานาน 10 วินาทีเป็นต้น
5. ฝึกการเปล่งเสียง โดยฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการออกเสียง เพื่อให้ออกเสียงแจ่มชัดขึ้น เสียงแหบน้อยลง และเสียงลมแทรกลดลง ฝึกการควบคุมความดังของเสียง และควบคุมระดับสูงต่ำของเสียง เป็นต้น
6. ฝึกการออกเสียงสระและเสียงพยัญชนะให้ชัดเจน โดยฝึกเสียงต่าง ๆ ที่เด็กสมอง
ใหญ่พิการพูดไม่ชัด  ควรเริ่มจากเสียงที่มีปัญหาน้อยที่สุด เช่น ฝึกเสียงที่พูดถูกบ้างผิดบ้าง ส่วนเสียงที่ยาก เช่น เสียงเสียดสีให้ฝึกภายหลัง เพราะเสียงเสียดสีต้องใช้ การทำงานประสานกันของกล้ามเนื้ออย่างมาก เมื่อฝึกพูดชัดในระดับคำแล้วฝึกต่อด้วยการพูดคำนั้นๆ ในระดับประโยคจนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ 
7. การควบคุมอัตราการพูด โดยฝึกการออกเสียงเป็นจังหวะเช่น อ่านโคลง ร้องเพลง
โดยใช้เครื่องเคาะจังหวะช่วย เด็กสมองใหญ่พิการบางรายรู้ตัวว่าพูดจังหวะช้าจึงพยายามพูดเร็วขึ้น ทำให้เกิดการพูดขาดเป็นห้วงๆ ควรฝึกให้พูดช้าลงก่อนและฝึกจนพูดประโยคต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้นแล้วค่อย ๆ เพิ่มความเร็วขึ้นจนใกล้เคียงกับคนทั่วไป 
8. ควบคุมความก้องของเสียง (การสั่นพ้องของเสียง) ให้เหมาะสม ในกรณีที่พูดเสียงขึ้นจมูกอาจฝึกโดยให้เด็กสามารถสร้างแรงดันลมในปากให้มากขึ้น จับความรู้สึกถึงการมีแรงดันลมในปากมากหรือน้อยอาจใช้ เพดานเทียมช่วยให้ผนังคอและเพดานอ่อนแตะกันสนิทยิ่งขึ้นในขณะพูด (Darley et al, 1975)
9. การฝึกฟัง ฝึกฟังเสียงสูง-ต่ำ ดัง-เบา ฝึกฟังแยกสียงในคำคู่ ฟังเสียงก้องของจมูก 
ฟังคุณภาพของเสียง ในรายที่มีการได้ยินบกพร่องต้องได้รับการช่วยเหลือเรื่องฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินด้วย 
10. การสื่อความหมายเสริมและทางเลือก (Augmentative and Alternative 
Communication) หรือ AAC เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้แทนการสื่อความหมายปกติ เช่น ใช้แทนการพูดหรือการเขียน AAC จะนำมาใช้ในกรณีที่มีความบกพร่องในการสื่อความหมายระดับรุนแรงซึ่งอาจใช้เพียงชั่วคราวหรือถาวรได้ (ASHA, 1991) การสื่อความหมายในลักษณะนี้ประกอบด้วยการใช้สัญญาลักษณ์  เครื่องมือ กลยุทธ์ หรือเทคนิคต่าง ๆ  ที่บุคคลนั้นใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการสื่อความหมาย (ASHA, 1991, 2011) การที่เด็กสมองใหญ่พิการจะสามารถพูดได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย การฝึกพูดควรให้เด็กสามารถสื่อความหมายได้โดยใช้ความสามารถที่มีอยู่ร่วมกับการใช้ AAC ในรายที่มีปัญหาระดับรุนแรงหรือซ้ำซ้อนมาก  การสื่อความหมายไม่จำเป็นที่ต้องบังคับให้เด็กพูดให้ได้เพียงอย่างเดียว การใช้ AAC เป็นทางออกอีกทางหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาซับซ้อนหรือรุนแรงมากซึ่งช่วยให้เด็กสามารถสื่อความหมายและบอกความต้องการได้ โดยอาจสอนให้เด็กใช้เป็นสัญญาณต่าง ๆ หรือใช้สัญลักษณ์ หรือใช้กระดานสื่อความหมาย (communication board) การใช้ กระดานสื่อความหมายมีทั้งแบบใช้เทคโนโลยีง่ายๆ (low technology) คือ กระดานสื่อความหมายที่สร้างขึ้นเอง หรือใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (high technology) ที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสื่อความหมาย (Beukelman & Mirenda, 1998) ก็ได้  
การทำงานเป็นทีม (Team work)
การช่วยเหลือเด็กสมองใหญ่พิการมี วัตถุประสงค์แตกต่างกันตามปัญหาและขั้นตอนพัฒนาการของเด็กแต่ละคน ช่วงแรกเกิดจะเน้นการช่วยให้รอดชีวิตก่อน เช่นการหายใจได้และการกินอาหารได้ เมื่อเติบโตมากขึ้นเน้นเรื่องพัฒนาภาษาและการพูด การช่วยเหลือตัวเอง ต่อมาเน้นเรื่องการเข้าสังคม การสื่อความหมายในระดับสูงขึ้น 
การพัฒนาความสามารถในการสื่อความหมายของเด็กสมองใหญ่พิการจะได้ผลดีต้องทำงานเป็นทีมแบบสหสาขาวิชา (multidisciplinary approach) แต่ละคนในทีมจะมีบทบาทแตกต่างกัน (Goulden & Hodge 1998) บางบทบาทอาจจะคาบเกี่ยวกันบ้าง อย่างไรก็ตามสมาชิกในทีมแต่ละวิชาชีพจะมีบทบาทเด่นที่ต่างกัน เช่น แพทย์มีหน้าที่ในการวินิจฉัยโรคและให้การรักษาทางยา ร่วมกับการรักษาด้านอื่นๆถ้าจำเป็น  นักแก้ไขการพูดมีบทบาทในการวินิจฉัย และพัฒนาความสามารถทางภาษาและการพูด แต่มิใช่ผู้วินิจฉัยโรค หรือสั่งการรักษาทางยา  บุคลากรในกลุ่มต่อไปนี้ให้ความช่วยเหลือเด็กแล้วแต่ปัญหาและความต้องการของเด็กแต่ละคนคือ
นักแก้ไขการพูด 
นักโสตสัมผัสวิทยา 
นักกายภาพบำบัด 
นักกิจกรรมบำบัด 
นักจิตวิทยาคลินิก 
ประสาทกุมารแพทย์ 
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางกระดูก
ครู 
บุคลากรอื่นๆให้ความช่วยเหลือเด็กตามปัญหาของเด็กแต่ละบุคคล
พ่อแม่ หรือผู้ใกล้ชิดมีความสำคัญมากในการนำความรู้และข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ มาฝึกลูก การช่วยเหลือเด็ก สมองใหญ่พิการจะได้ผลดีเพียงใดขี้นอยู่กับการยอมรับและทัศนคติ ของคนในครอบครัวและคนแวดล้อม ดังนั้นการช่วยเหลือเด็กควรรวมบุคคลในครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่เด็ก เป็นสมาชิกของทีมด้วยเพราะการมีความรู้เกี่ยวกับสมองใหญ่พิการมากขึ้น จะทำให้คนในครอบครัวยอมรับและมีทัศนคติที่ดีต่อเด็กยิ่งขึ้น (Rollin, 2000)


สรุป
สมองใหญ่พิการเป็นภาวะของการมีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวร่างกายซึ่งเกิดจากมีความบกพร่องของระบบประสาท ปัญหาโดยทั่วไปของเด็กสมองใหญ่พิการคือพัฒนาการด้านร่างกายล่าช้า ปัญหาการเคลื่อนไหวร่างกาย ปัญหาการเคลื่อนไหวอวัยวะที่ใช้ในการพูดทำให้เกิดปัญหาการพูด มีพัฒนาภาษาและการพูดล่าช้า ส่วนปัญหาร่วมของเด็กสมองใหญ่พิการคือ เชาว์ปัญญาบกพร่อง ปัญหาการชัก ความบกพร่องของการได้ยิน ความบกพร่องของการมองเห็น ปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ และความบกพร่องของการรับรู้ การประเมินความสามารถการสื่อความหมายของเด็กสมองใหญ่พิการแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านภาษาและด้านการพูด ส่วนการฟื้นฟูสมรรถภาพของการสื่อความหมายในเด็กสมองใหญ่พิการมีวัตถุประสงค์ในการป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาของการสื่อความหมายของเด็กซึ่งแตกต่างกันตามปัญหาและขั้นตอนพัฒนาการของเด็กแต่ละคน การฟื้นฟูสมรรถภาพของการสื่อความหมายในเด็กสมองใหญ่พิการเน้นให้สามารถสื่อความหมายกับผู้อื่นโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เพื่อให้เด็กสามารถแสดงความรู้สึก นึกคิดและความต้องการได้โดยการใช้ความสามารถที่มีอยู่ให้เต็มที่ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาษาและการพูดในเด็กสมองใหญ่พิการยังมีน้อยและผลการวิจัยยังไม่แน่นอนจึงควรมีการศึกษาในเรื่องนี้ต่อไปในเด็กไทยด้วย ทั้งนี้เนื่องจากภาษาและวัฒนธรรมไทยมีลักษณะแตกต่างจากภาษาอื่น 


รศ. ดร. สุมาลี ดีจงกิจบรรณานุกรม
American Speech and Hearing Association. (1991). Augmentative and alternative communication. Journal of American Speech and Hearing Association. 33: 9-12.
American Speech-Language-Hearing Association. (2011, 17 March). Augmentative and Alternative Communication. http://www.asha.org/public/speech/disorders/AAC.htm. (online)
Beukelman, D.R., & Mirenda, P. (1998). Augmentative and alternative communication: management of severe communication disorders in children and adults (2nded). Baltimore: Paul H. Brookes Publishing.
Darley, F.L., Aronson, A.E., & Brown, J.R. (1975). Motor speech disorders. Philadelphia: W.B. Saunders. 
Goulden, K.J., & Hodge, M. (1998). Neurogenic communicative disorder of childhood. In: A.F., Johnson, & B.H., Jacobson (Eds), Medical speech and language pathology: practitioner?s guide (pp. 409-424). New York: Thieme Medical Publishers.
Hegde, M.N. (1996). Pocketguide to speech-language pathology. San Diego: Singular Publishing Group.
Hegde, M.N. (2008). Hedge?s pocketguide to treatment in speech-language pathology (3rd ed). New York: Delmar Cengage Learning. 
Lattanan P, Dechongkit S, Khanthapasuantara K, Chutiboot M. (2011). Receptive and expressive language of Thai children from birth to 36 months by using Thai adaptation of the receptive-expressive emergent language test (REEL-3). Journal of Thai Otolaryngology Head Neck Surgery.12: 25-42.
Liengswnagwong, K. A. (2010).  Study of auditory comprehension of children aged 3 years to 6 years 11 months in Bangkok by using Thai version of test for auditory comprehension of language (TACL-3). Unpublished Master Degree Thesis, Mahidol University.
Love, R.J. (2000). Childhood motor speech disability (2nded). Boston: Allyn and Bacon. 
Love, R.J., & Webb, W.G.  (1992). Neurology for the speech-language pathology. Boston: Butterworth- Heinemann. 
Mysak, E.D. (1986). Cerebral Palsy. In: G.H., Shames, & E.H., Wiig (Eds), Communication disorders (pp. 531-560). Columbus, Ohio: Charles E. Merrill Publishing Company. 
Rollin, W.J. (2000). Counseling individuals with communication disorders: psychodynamic and family aspects (2nded). Boston: Butterworth-Heinemann.
Workinger, M.S., & Kent, R.D. (1991). Perceptual analysis of dysarthrias in children with athetoid and spastic cerebral palsy. In: C.A., Moore, K.M., Yorkston, & D.R., Beukelman (Eds), Dysarthria and apraxia of speech: perspectives on management. Baltimore: Paul H. Brookes Publishing.
Yorkston, K.M., Beukelman, D.R., & Bell, K.R. (1997). Clinical management of dysarthric speakers. In: N.B., Swigert (Ed), The source for dysarthria. East Moline: LinguiSystem. 
ราชบัณฑิตยสถาน. (2544). บัญญัติศัพท์ อังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (ซีดีรอม) 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้